น้องๆ หลายคน ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์หรือยังไม่เคย “สอบ ก.พ.” คงยังไม่แน่ใจว่า วิธีสมัคร “สอบ ก.พ.” ต้องทำอย่างไร สมัครวันไหน สมัครเมื่อไหร่กัน และต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างในการสมัครใช่ไหมครับ?
พี่บัสจะบอกน้องว่า ไม่ต้องกังวลไปครับ เพราะวันนี้พี่บัสจะมาบอกรายละเอียดทุกอย่างที่จำเป็นต้องรู้สำหรับการสมัคร “สอบ ก.พ.” ในฉบับเข้าใจง่าย อัปเดตปี 2565! ถ้าอยากรู้กันแล้วไปดูพร้อมกันเลยดีกว่า แล้วน้องๆจะรู้ว่าการสมัคร “สอบ ก.พ.” ง่ายกว่าที่คิด
วิธีสมัคร “สอบ ก.พ.” มีกี่ขั้นตอน อะไรบ้าง?
สำหรับน้องคนไหนที่กังวลว่าจะสมัคร “สอบ ก.พ.” ไม่เป็น ทำผิดขั้นตอน พี่บัสขอคอนเฟิร์มเลยครับว่า วิธีสมัคร “สอบ ก.พ.” นั้นไม่มีความซับซ้อนเลย น้องสามารถอ่านบทความนี้ และเข้าใจได้ง่ายๆ เลยครับ
“สอบ ก.พ.” รอบปกติ Paper & Pencil และ รอบ E-exam เป็นอย่างไร?
แต่ว่าก่อนจะไปดูวิธีสมัคร “สอบ ก.พ.” พี่บัสขออัปเดตรูปแบบการสอบที่มีเพิ่มเข้ามาใหม่ปี 2564 นิดนึง เพื่อให้น้องๆทุกคนเข้าใจกฏเกณฑ์ พร้อมทั้งเลือกได้ว่าตัวเองต้องการสมัครสอบในรูปแบบ Paper & Pencil หรือ แบบ E-exam น้องทุกคนจะได้เตรียมตัว “สอบ ก.พ.” ได้ทันเวลาและมั่นใจที่สุดครับ
ในปี 2564 เนื่องจากสถานการณ์ของโรคระบาดโควิด 19 ทำให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอบ โดยแบ่งเป็น 2 แบบ คือ รอบปกติ Paper & Pencil (แบบเดิมเหมือนปีก่อนๆ นั้นเองครับ) และ รอบ E-exam หรือ การสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (แบบใหม่)
“สอบ ก.พ.” แบบ E-exam คืออะไร?
สำหรับน้องๆ ที่ยังสงสัยว่า “การสอบแบบ E-exam เป็นยังไง?” พี่บัสจะอธิบายแบบง่ายๆ ให้เข้าใจเองครับ
“สอบ ก.พ.” แบบ E-exam หรือ การสอบผ่านคอมพิวเตอร์ที่ทางผู้จัดสอบได้เตรียมไว้ โดยเนื้อหาการสอบ จำนวนข้อสอบ ตลอดจนเกณฑ์คะแนนการสอบผ่านนั้นจะเหมือนการสอบแบบปกติ หรือ Paper & Pencil ทุกอย่างเลยครับ
พี่บัสขอพูดให้เข้าใจง่ายๆ การสอบ E-exam คือ การไปคลิกคำตอบลงในคอมพิวเตอร์นั้นเองครับ โดยเกณฑ์เหมือนเดิมทุกอย่าง ทีนี้น้องๆ ถนัดแบบไหนก็สามารถเลือกสมัครได้ตามความถนัดเลยครับ ถ้าถนัดแบบเดิมหรือแบบใช้ดินสอ 2B ฝนคำตอบ ให้เลือกสมัครแบบ Paper & Pencil แต่ถ้าหากไม่อยากฝนคำตอบ พี่บัสว่าการ “สอบ ก.พ.” แบบ E-exam ก็ตอบโจทย์มากครับ
ปกติแล้วช่วงเวลาที่เปิดให้สมัคร “สอบ ก.พ.” ภาค ก ทั้งแบบ Paper & Pencil และ แบบ E-exam จะเปิดให้สมัครในช่วงเวลาเดียวกันครับ นั้นก็คือ ในช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. ของทุกปี ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์นะครับ
แนะนำให้น้องๆ ติดตามข่าวจากสำนักงาน ก.พ. หรือ พี่บัสจะทำการบัสอัปเดตให้อยู่เรื่อยๆ ตอนนี้ทุกคนน่าจะเข้าใจรูปแบบการ “สอบ ก.พ.” แบบใหม่กันแล้ว ถ้างั้นอย่าให้เสียเวลา เรารีบไปดูวิธีสมัคร “สอบ ก.พ. 65” กันเลยครับ
ขั้นตอนที่ 1 กรอกใบสมัคร “สอบ ก.พ.” ออนไลน์
ก่อนจะไปดูวิธีสมัคร “สอบ ก.พ.” พี่บัสขอย้ำเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครก่อนครับ น้องๆ ที่ต้องการสมัครสอบ ก.พ. จำเป็นต้องมีคุณสมบัติ คือ
– อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี (ไม่กำหนดอายุสูงสุด)
– มีสัญชาติไทย
– มีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม (ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้อราชการพลเรือน พ.ศ. 2551)
ซึ่งวุฒิที่ใช้ในการสมัคร “สอบ ก.พ.” ได้แก่
– ระดับวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
– ระดับวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.)
– อนุปริญญา, ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
– ระดับวุฒิปริญญาตรี
– ระดับวุฒิปริญญาโท
ถ้าตรวจสอบแล้วว่า ตัวเองคุณสมบัติผ่านทุกข้อแล้ว ไปดูวิธีสมัคร “สอบ ก.พ.” ฉบับเข้าใจง่ายๆ กันเลยครับ
วิธีสมัคร “สอบ ก.พ.” รอบปกติ Paper & Pencil
- เข้าไปที่เว็บไซต์ http://job2.ocsc.go.th
- เลือก “การสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป ประจำปี 2565 (แบบ Paper & Pencil และ แบบ E-exam)” คลิกเข้าไปได้เลยครับ
- เลือกหัวข้อการสอบ ก.พ. แบบ Paper & Pencil
- คลิกหัวข้อย่อยด้านซ้ายมือของน้องๆ “สมัครสอบ”
- กรอกข้อมูลส่วนตัว ได้แก่
– ชื่อ-นามสกุล
– เลขประจำตัวประชาชน
– รหัสหลังบัตรประจำตัวประชาชน
– วัน/เดือน/ปีเกิด
อย่าลืมตรวจสอบความถูกต้องด้วยนะครับ สำคัญมากๆ** - หลังจากกรอกข้อมูลครบถ้วนแล้ว ระบบจะแสดงผลหน้าจอให้น้องๆ ตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง หากน้องต้องการแก้ไขข้อมูล สามารถคลิกที่แก้ไข ระบบจะกลับไปหน้ากรอกใบสมัคร เพื่อให้แก้ไขข้อมูลใหม่ได้ครับ
- หลังจากตรวจเช็คข้อมูลแล้ว สามารถกดยืนยันได้เลยครับ
วิธีสมัคร “สอบ ก.พ.” รอบ E-exam
- เข้าไปที่เว็บไซต์ http://job2.ocsc.go.th
- เลือก “การสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป ประจำปี 2565 (แบบ Paper & Pencil และ แบบ E-exam) คลิกเข้าไปได้เลยครับ
- เลือกหัวข้อการสอบ ก.พ. แบบ E-exam
- คลิกหัวข้อย่อยด้านซ้ายมือของน้องๆ “สมัครสอบ”
- ในขั้นตอนนี้ สามารถเลือกรอบสอบ สถานที่สอบ ที่น้องสะดวกได้เลยครับ
- กรอกข้อมูลส่วนตัว ได้แก่
– ชื่อ-นามสกุล
– เลขประจำตัวประชาชน
– รหัสหลังบัตรประจำตัวประชาชน
– วัน/เดือน/ปีเกิด
อย่าลืมตรวจสอบความถูกต้องด้วยนะครับ สำคัญมากๆ** - หลังจากกรอกข้อมูลครบถ้วนแล้ว ระบบจะแสดงผลหน้าจอให้น้องตรวจสอบความถูกต้อง อย่าลืมตรวจสอบให้ดีนะครับ เพราะเมื่อกดยืนยันแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
- หลังจากตรวจสอบข้อมูลแล้ว สามารถกดยืนยันได้เลยครับ
- ในกรณีสนามสอบที่เลือกไปเต็ม สามารถเลือกสนามสอบอื่นแทนได้ครับ
การสมัคร “สอบ ก.พ.” มีเงื่อนไขว่าน้องสามารถสมัครได้เพียงครั้งเดียว และเลือกได้เพียง 1 ระดับวุฒิการศึกษา พร้อมทั้งเลือกสมัครสอบได้เพียง 1 ศูนย์สอบเท่านั้น หรือ พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ใน 1 ปี น้องต้องเลือกว่าต้องการสอบแบบใด แบบ Paper & Pencil หรือ แบบ E-exam เพียงแบบเดียวเท่านั้น
ขั้นตอนที่ 2 การชำระเงินค่าสมัคร “สอบ ก.พ.”
หลังจากที่น้องสมัคร “สอบ ก.พ.” และสมัครเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ ขั้นตอนการพิมพ์ฟอร์มชำระเงินสำหรับไปจ่ายค่าสมัครสอบครับ โดยสามารถพิมพ์ฟอร์มชำระเงินได้ที่ https://ocsc9.thaijobjob.com/ และเลือกหัวข้อ “ค้นหาแบบฟอร์มการชำระเงิน” ทางด้านซ้ายมือ และสั่งพิมพ์ได้เลยครับ
ซึ่งค่าธรรมเนียนในการสมัครสอบ ก.พ. อยู่ที่ 250 บาท และค่าธรรมเนียนธนาคาร สูงสุดไม่เกิน 30 บาท พี่บัสแนะนำให้น้องๆ เตรียมไว้ 280 บาทไว้ได้เลย หลังจากสั่งพิมพ์ฟอร์มการชำระเงินค่าสมัครสอบแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ขั้นตอนการชำระเงินค่าสมัครสอบ โดยน้องสามารถชำระค่าสมัครสอบได้ 3 ช่องทาง ดังนี้
1. ชำระเงินค่าสมัครสอบผ่านเคาน์เตอร์ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
น้องๆ สามารถนำแบบฟอร์มการชำระเงินค่าสมัครสอบ ไปชำระค่าธรรมเนียมในการสมัครสอบที่เคาท์เตอร์ ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศ ภายในวันและเวลาที่ทำการของธนาคาร หลังจากชำระเงินเรียบร้อยแล้วอย่าลืมเช็คความถูกต้องและอย่าลืมเก็บหลักฐานการชำระเงินไว้ด้วยนะครับ
หากพบว่า มีข้อผิดพลาดให้น้องติดต่อ ธนาคารกรุงไทย ภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากชำระเงินแล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาทันที
2. ชำระเงินค่าสมัครสอบผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต Internet Banking ผ่าน KTB netbank
สำหรับคนที่มีบัญชีเงินฝากของธนาคารกรุงไทย และได้ลงทะเบียนขอใช้บริการ KTB netbank แล้ว สามารถเลือกชำระเงินค่าสมัครสอบผ่านทางเว็บไซต์ โดยเลือหัวข้อ “การสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป ประจำปี 2565” และเลือก “ธนาคารกรุงไทย Netbank” น้องๆ สามารถทำตามขั้นตอนที่ระบบกำหนดไว้ได้เลยครับ
แต่วิธีชำระเงินค่าสมัครสอบผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ต้องทำภายในเวลา 00.00 – 20.00 น. ของวันที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด และอย่าลืมพิมพ์หน้ายืนยันการชำระเงินจากเว็บไซต์มาเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วยนะครับ
3. ชำระเงินค่าสมัครสอบผ่านเครื่อง ATM ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
น้องๆ สามารถนำแบบฟอร์มการชำระเงิน ไปทำรายการชำระเงินค่าสมัครสอบผ่านเครื่อง ATM ของธนาคารกรุงไทย โดยสามารถทำรายการได้ตามวิธีต่อไปนี้
- เลือกประเภทบริการเป็น “บริการอื่นๆ”
- เลือก “ชำระค่าบริการ/เติมเงินมือถือ”
- เลือก “สำนักงาน ก.พ. (OCSC)”
- ชำระเงินค่าสมัครสอบตามที่กำหนดได้เลยครับ ที่สำคัญอย่าลืมเก็บหลักฐานการชำระเงินไว้ด้วยนะครับ
ขั้นตอนที่ 3 วิธีตรวจสถานะผู้มีสิทธิ์ “สอบ ก.พ.”
วิธีตรวจสอบสถานะการสมัคร “สอบ ก.พ.”
หลังจากที่น้องชำระเงินค่าสมัคร “สอบ ก.พ.” เรียบร้อยแล้ว 2 วันทำการ หลังจากการชำระเงิน ให้น้องเข้าไปที่
เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ. หรือ https://ocsc9.thaijobjob.com/
จากนั้นเลือกหัวข้อ “ตรวจสอบสถานะการสมัครสอบ”
สำหรับการตรวจสอบสถานะ จำเป็นต้องใช้เลขบัตรประชาชนประจำตัว 13 หลัก ในการตรวจสอบนะครับ
วิธีตรวจสอบสถานะผู้มีสิทธิ์ “สอบ ก.พ.”
หลังจากที่สำนักงาน ก.พ. ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบแล้ว ให้น้องทุกคนเข้าไปที่
เว็บไซต์สำนักงาน ก.พ. หรือ https://ocsc9.thaijobjob.com/
จากนั้นเลือกหัวข้อ “ค้นหารายชื่อผู้สมัครสอบ” บริเวณแถบเมนูด้านซ้ายมือ
สำหรับการตรวจสอบผู้มีสิทธิ์สอบ จำเป็นต้องใช้เลขบัตรประชาชนประจำตัว 13 หลัก ในการตรวจตอบเหมือนกับการตรวจสอบสถานะการสมัครสอบเลยครับ
ชำระเงินภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ไม่มีชื่อ ต้องทำอย่างไร?
หากน้องคนไหน ที่ชำระเงินค่าสมัครสอบภายในระยะเวลาที่กำหนดเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่มีชื่อ ไม่ต้องกังวลไปครับ สามารถทำตามขั้นตอนที่พี่บัสแนะนำได้เลย
โดยน้องจำเป็นต้องนำหลักฐานการชำระค่าสมัครสอบ และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์สรรหาและเลือกสรร สำนักงาน ก.พ. ภายในวันและเวลาที่ทางสำนักงานกำหนดได้เลยครับ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบความถูกต้อง และจะประกาศรายชื่อผู้สมัครสอบเพิ่มเติมครับ
ทีนี้น้องคงรู้กันแล้วว่าทำไมพี่บัส ถึงแนะนำให้เก็บหลักฐานการชำระเงินค่าสมัคร “สอบ ก.พ.” เนื่องจากอาจเกิดเหตุการณ์นี้ได้ เพราะงั้นกันไว้ดีกว่าครับ
ขั้นตอนที่ 4 การอัปโหลดรูปถ่ายติดบัตรสอบ
ทีนี้ก็มาถึงขั้นตอนการอัปโหลดรูปถ่ายติดบัตรสอบกันแล้วครับ หลายคนอาจจะสงสัยกันว่าทำไมต้องทำ และถ้าไม่ทำมีผลอะไรไหม ? พี่บัสตอบเลยว่า มีครับ หากน้องๆ ไม่อัปโหลดรูปถ่ายติดบัตรสอบให้เรียบร้อย จะไม่สามารถพิมพ์บัตรประจำตัวผู้สอบได้ และเมื่อไม่มีบัตรประจำตัวผู้สอบน้องๆ ก็จะไม่สามารถเข้าห้องสอบได้นั้นเองครับ เพราะงั้นขั้นตอนการอัปโหลดรูปถ่ายจึงสำคัญเหมือนกัน
ดังนั้น เมื่อปิดรับสมัคร “สอบ ก.พ.” แล้ว ให้น้องๆ อัปโหลดรูปถ่าย ตามวันและเวลา ตามที่สำนักงาน ก.พ.ได้กำหนดไว้ โดยเข้าไปที่
เว็บไซต์สมัครสอบ https://ocsc9.thaijobjob.com/
จากนั้นเลือกหัวข้อ “อัปโหลดรูปถ่าย” บริเวณเมนูแถบทางซ้ายมือ
และกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักของตนเอง เพื่อเข้าไปอัปโหลดรูปได้เลยครับ
ข้อแนะนำในอัปโหลดรูปถ่ายติดบัตร “สอบ ก.พ.”
- รูปถ่ายหน้าตรง ไม่สวมแว่นตาดำ ไม่สวมหมวก
- พื้นหลังสีขาว / ไม่มีลวดลาย
- ต้องเป็นรูปที่ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน
- ขนาดรูป 1×1.5 นิ้ว
- ประเภทไฟล์เป็น JPG ความละเอียดประมาณ 40 -100 KB
ทั้งนี้ รูปถ่ายที่อัปโหลดจะอยู่บนบัตรประจำตัวสอบ และหนังสือรับรองผลการสอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของสำนักงาน ก.พ. นะครับ
ขั้นตอนที่ 5 วิธีพิมพ์บัตรประจำตัวผู้สมัคร “สอบ ก.พ.”
มาถึงขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะต้องลงสนามสอบจริงกันแล้วนะครับ นั้นก็คือการพิมพ์บัตรประจำตัวผู้สอบ หลังจากที่สำนักงาน ก.พ. ประกาศวัน เวลา และสถานที่สอบแล้ว น้องสามารถเข้าไปที่
เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ. หรือ https://ocsc9.thaijobjob.com/
จากนั้นเลือกหัวข้อ “ค้นหาสถานที่สอบและพิมพ์บัตรประจำตัวสอบ” บริเวณเมนูแถบทางซ้ายมือ
และกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชนของตนเอง เพื่อเข้าไปเช็คว่าตนเองได้สนามสอบที่ไหน และเพื่อพิมพ์บัตรประจำตัวผู้สอบได้เลยครับ
พี่บัสขอเน้นย้ำว่า “ทุกคน” ต้องนำบัตรประจำตัวผู้สอบไปแสดงตนเพื่อใช้ในการเข้าห้องสอบ หากไม่มีบัตรประจำตัวผู้สอบ จะไม่สามารถเข้าสอบได้ นอกจากนี้หากรูปถ่ายที่ติดอยู่บนบัตรประจำตัวผู้สอบไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ จะถือว่าเป็นความบกพร่องของผู้สมัครสอบ และจะไม่สามารถเข้าสอบได้เช่นกันครับ
รู้อย่างนี้แล้ว น้องอย่าลืมตรวจสอบรูปถ่ายติดบัตรสอบ และห้ามลืมพิมพ์บัตรประจำตัวผู้สอบเลยนะครับ!
ข้อสรุป
เป็นไงกันบ้างครับน้อง วิธีสมัคร “สอบ ก.พ.” และ เงื่อนไขต่างๆ ในการสมัคร “สอบ ก.พ.” ที่พี่บัสรวบรวมมาให้ไม่ยากอย่างที่คิดใช่ไหมครับ สำหรับน้องๆ คนไหนที่ต้องการ “สอบ ก.พ.” แต่ไม่รู้วิธีสมัครสามารถทำตามวิธีที่พี่บัสแนะนำข้างบนได้เลยครับ
สำหรับน้องที่สมัคร “สอบ ก.พ.” เรียบร้อยแล้ว แต่ไม่มีพื้นฐาน ไม่มั่นใจว่าถ้าอ่านหนังสือด้วยตนเองแล้วจะตรงจุดไหม หรือ อยากได้แนวข้อสอบ ก.พ. เทคนิคที่ช่วยให้ทำข้อสอบ ก.พ. ได้เร็ว และชัวร์มากขึ้น พี่บัสแนะนำ คอร์สติวสอบ ก.พ. ออนไลน์ เตรียมความพร้อมก่อนลงสนาม รับรองผลโดยกูรู ที่มีประสบการณ์ติวสอบมามากกว่า 10 ปี กับ Guru Academy เลยครับ หากน้องมีข้อสงสัย สามารถแอดไลน์มาสอบถามพี่บัส & พี่หวานได้ที่ @gorporguru ได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายครับ