น้องที่ใฝ่ฝันอยากทำ “อาชีพข้าราชการ” ในส่วนของท้องถิ่น พี่บัสอยากชวนมาดูว่าต้องสอบอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้เตรียมตัวติวโจทย์ได้ตรงจุด ทำคะแนนให้ได้มากที่สุด สอบติดในครั้งเดียว! และบรรจุเป็น “ข้าราชการท้องถิ่น” สมความปรารถนานะครับ ก่อนอื่นมาดูกันครับว่า “สอบท้องถิ่น” สอบอะไรบ้าง
“สอบท้องถิ่น” สอบอะไรบ้าง?
“สอบท้องถิ่น” คล้ายกับการสอบข้าราชการทั่วไปเลย จะประกอบด้วยการสอบ 3 ส่วน มีสอบภาค ก, ภาค ข และ ภาค ค ดังนี้ครับ
- การสอบภาค ก (ความรู้ความสามารถทั่วไป) [ข้อเขียน]
- การสอบภาค ข (ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง) [ข้อเขียน]
- การสอบภาค ค (ความเหมาะสมต่อตำแหน่ง) [สัมภาษณ์]
โดยทั่วไปแล้วสำหรับ “สอบท้องถิ่น” จะมีการสอบในส่วนของ ภาค ก และ ภาค ข ในวันเดียวกัน โดยแบ่งเป็นการสอบ 2 ช่วง โดยช่วงเช้าจะเป็นการสอบภาค ก และภาคบ่ายจะเป็นการสอบภาค ข ครับ
ผู้ที่จะสามารถสอบ ภาค ค ได้ จะต้องเป็นผู้ที่ผ่านการสอบทั้ง ภาค ก และ ภาค ข แล้วเท่านั้น หลังจากนั้นจะมีการขึ้นบัญชีเตรียมบรรจุตามตำแหน่ง โดยลำดับจะเรียงจากคะแนนจากภาค ข และ ภาค ค รวมกัน
ผู้สอบแข่งขันจะต้องเป็นผู้สอบคะแนนใน 3 ส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ด้วยนะครับ
“สอบท้องถิ่น” ภาค ก
ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก) คะแนนเต็ม 100 คะแนน
เป็นการทดสอบโดยวิธีการสอบข้อเขียนแบบปรนัย โดยคำนึงถึงระดับความรู้ความสามารถที่ต้องการตามระดับตำแหน่ง ดังต่อไปนี้
1. วิชาความสามารถในการศึกษา วิเคราะห์และสรุปเหตุผล (คะแนนเต็ม 30 คะแนน)
- เป็นการทดสอบความสามารถในการศึกษา วิเคราะห์และสรุปเหตุผล ในเรื่องต่อไปนี้
- ความสามารถในการสรุปความ หรือจับประเด็นในข้อความหรือเรื่องราว
- ความสามารถในการวิเคราะห์เหตุการณ์หรือสรุปเหตุผลทางการเมือง เศรษฐกิจหรือสังคม เช่น หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โมเดลเศรษฐกิจประเทศไทย 4.0 หรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เป็นต้น
- ความสามารถในการหาแนวโน้มหรือความเปลี่ยนแปลงที่น่าจะเป็นไปตามข้อมูลหรือสมมติฐาน
- ความสามารถในการวิเคราะห์และสรุปเหตุผลอย่างอื่น เช่น สรุปเหตุผลเกี่ยวกับตัวเลขและข้อมูลต่างๆ การคิดสรุปหาเหตุผล และอุปมาอุปไมย เป็นต้น
2. วิชาความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติราชการ (คะแนนเต็ม 30 คะแนน)
เป็นการสอบความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวกับกฎหมายในการปฏิบัติราชการ ในเรื่องดังต่อไปนี้
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
- พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
- พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีพ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
- พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
- พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
- พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
- พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
- พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
- พระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542
- พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558
- ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
3. วิชาภาษาไทย (คะแนนเต็ม 20 คะแนน)
เป็นการทดสอบความรู้และความสามารถในการใช้ภาษา โดยการอ่านจับใจความ การสรุปความ การตีความ การขยายความจากข้อความสั้นๆ หรือบทความ และให้พิจารณาเลือกใช้ภาษาในรูปแบบต่างๆ จากคำหรือกลุ่มคำ ประโยคหรือข้อความสั้นๆ การเรียงข้อความ การสะกดคำ การแต่งประโยค และคำศัพท์
4. วิชาภาษาอังกฤษ (คะแนนเต็ม 20 คะแนน)
เป็นการทดสอบความรู้และความสามารถภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐานทางการอ่าน การสรุปความ การตีความ และความเข้าใจสาระสำคัญของข้อความในระดับเบื้องต้น
“สอบท้องถิ่น” ภาค ข
สอบความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง
เป็นการสอบโดยข้อสอบปรนัย โดยผู้สมัครสอบในตำแหน่งใด ก็จะต้องสอบในส่วนความรู้ความสามารถในทางที่จะใช้ในการปฏิบัติงานในหน้าที่โดยเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้น โดยแต่ละตำแหน่งที่สมัครสอบ ก็จะมีข้อสอบที่แตกต่างกันออกไปครับ
“สอบท้องถิ่น” ภาค ค
สอบความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง
เป็นการประเมินจากตัวผู้สอบเพื่อพิจารณาความเหมาะสมกับตําแหน่งหน้าที่ จากประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประวัติการทํางาน และพฤติกรรมที่ปรากฏทางอื่นของผู้เข้าสอบและจากการสัมภาษณ์ ทั้งนี้แต่ละตำแหน่งอาจจะมีรายละเอียดของการสอบในภาคนี้มากกว่าหรือน้อยกว่าที่กล่าวมาก็ได้
ข้อสรุป
น้องจะเห็นว่า “สอบท้องถิ่น” การสอบเฉพาะทางอย่างภาค ข และ ภาค ค ค่อนข้างสำคัญเลยทีเดียว แต่น้องที่เตรียมตัวสอบครั้งนี้ จะมุ่งแต่เนื้อหาความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่งอย่างเดียวก็ไม่ได้ การสอบภาค ก เป็นประตูแรกที่ทุกคนต้องสอบเหมือนกัน การทำคะแนนส่วนนี้เพื่อเป็นใบเบิกทางก็ต้องพึ่งวินัยในการอ่านหนังสือเช่นกัน มาทำโจทย์และติว “สอบท้องถิ่น” เพื่อสอบติดในรอบเดียวนะครับน้อง สู้ๆ ครับ