โดยทั่วไปถ้าพูดถึงการสอบ ก.พ. จะนึกถึงอะไร น้องๆ ทุกคนก็คงนึกถึงการสอบเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าไปทำงานในหน่วยงานราชการใช่ไหมครับ ซึ่งงานราชการก็นับว่าเป็นงานที่มีความมั่นคง มีสวัสดิการที่ดีสำหรับตัวเราเองและยังครอบคลุมไปถึงครอบครัวของเราอีกด้วย ดังนั้นในบทความนี้พี่บัสจะพาน้องๆ มาทำรู้จักกับการสอบ ก.พ. ว่าการสอบ ก.พ. คืออะไร สอบไปทำไม สอบไปเพื่ออะไร และที่สำคัญเลยคือต้องเตรียมตัวสอบอย่างไรบ้างในการสอบ ก.พ. ครั้งนี้
เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจ
- สอบ ก.พ. คืออะไร
- สอบ ก.พ. เพื่ออะไร ทํางานอะไรได้บ้าง
- คุณสมบัติและอายุของผู้เข้าสอบ ก.พ.
- สอบ ก.พ. ใช้วุฒิอะไรในการสมัคร
- การสอบ ก.พ. มีทั้งหมดกี่ภาค สอบอะไรบ้าง
- การสอบ ก.พ. แบบ E-exam คืออะไร
- ขั้นตอนการสมัครสอบ ก.พ.
- แนะนำวิธีเตรียมตัวก่อนสอบ ก.พ.
- Q&A การสอบ ก.พ.
- ข้อสรุปเรื่องการสอบ ก.พ.
เลือกอ่าน...ตามหัวข้อที่คุณสนใจ
Toggleสอบ ก.พ. คืออะไร
ลำดับแรกเลยน้องๆ มาทำความรู้จัก สำนักงาน ก.พ. (OCSC) หรือมีชื่อเต็มว่า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เป็นองค์กรกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน
โดยองค์กรนี้มีหน้าที่สำคัญคือการจัดสอบ ก.พ. ซึ่งก็คือการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำงานในหน่วยงานราชการ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วการสอบ ก.พ. คืออะไร ก็คือการสอบเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในหน่วยงานราชการนั่นเองครับ และต้องสามารถทำงานตามนโยบายของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นน้องๆ ที่จะสอบ ก.พ. ก็ต้องเตรียมตัวอ่านหนังสือนะครับ พี่บัสก็มีสถิติยอดจำนวนคนการสมัครสอบ ก.พ. และอัตราการสอบผ่านในแต่ละปี มาให้ให้น้องๆ ดูเป็นแนวทางไว้ด้วยครับ
สอบ ก.พ. เพื่ออะไร ทํางานอะไรได้บ้าง
อ่านถึงตรงนี้น้องคงเริ่มสงสัยกันว่าเราจะสอบ ก.พ. เพื่ออะไร และการสอบ ก.พ. ทำงานอะไรได้บ้าง ลำดับแรกพี่บัสขออธิบายก่อนว่าการสอบ ก.พ. ก็คือการทดสอบเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำงานในหน่วยงานราชการ เรียกได้ว่าการสอบ ก.พ. ก็คือตัวกลางระหว่าง “คนที่สนใจทำงานในหน่วยงานราชการ” กับ “หน่วยราชการ” ให้มาเชื่อมต่อกันนั่นเอง
ดังนั้นการสอบ ก.พ. ก็เพื่อเป็นสะพานที่นำไปสู่การทำงานในหน่วยราชการนั่นไงล่ะครับ ทีนี้แล้วการสอบ ก.พ. ทำงานอะไรได้บ้าง ก็จะเป็นข้าราชการของหน่วยราชการต่างๆ ที่เปิดรับสมัคร ตัวอย่างเช่น
- กรมบังคับคดี ตำแหน่ง นิติกรปฏิบัติการ
- สำนักงาน กศน. ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
- กรมการค้าระหว่างประเทศ ตำแหน่ง นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ เป็นต้น
บทความอ่านเพิ่มเติม อาชีพข้าราชการ มีอะไรบ้าง? ทำความรู้จักกับงานราชการประเภทต่างๆ
คุณสมบัติและอายุของผู้เข้าสอบ ก.พ.
สำหรับคุณสมบัติหลักสำหรับผู้ที่จะเข้าสอบ ก.พ. นะครับ น้องๆ จะต้อง
- มีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม (ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้อราชการพลเรือน พ.ศ. 2551)
- มีสัญชาติไทย
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี (อายุ 18 ปีขึ้นไป และไม่มีกำหนดอายุสูงสุด)
สอบ ก.พ. ใช้วุฒิอะไรในการสมัคร
พี่บัสจะพาน้องๆมารู้จักว่าการสอบ ก.พ. ใช้วุฒิอะไร ในการสมัครสอบได้บ้าง โดยการสอบ ก.พ. จะแบ่งเป็น 4 ระดับ ตามวุฒิการศึกษา หากน้องๆ สอบระดับวุฒิการศึกษาใดก็จะใช้ระดับนั้น ข้อสอบจะยากขึ้นเรื่อยๆตามระดับวุฒิการศึกษา
ทั้งนี้น้องๆ สามารถใช้ผลการสอบของระดับวุฒิที่สูงกว่ามาสมัครของวุฒิที่ต่ำกว่าได้ เช่น น้องจะสมัครสอบราชการระดับปริญญาตรี และยังสอบ ภาค ก. ของปริญญาตรีไม่ผ่าน แต่สอบภาค ก. ของปริญญาโทผ่านแล้ว จะสามารถนำไปใช้สมัครสอบราชการของปริญญาตรีได้นั่นเองครับ
สอบ ก.พ. ระดับ 1
ระดับวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
สอบ ก.พ. ระดับ 2
ระดับวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) อนุปริญญา หรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
สอบ ก.พ. ระดับ 3
ระดับวุฒิปริญญาตรี
สอบ ก.พ. ระดับ 4
ระดับวุฒิปริญญาโท
การสอบ ก.พ. มีทั้งหมดกี่ภาค สอบอะไรบ้าง
พี่บัสจะพาน้องๆ มารู้จักเกี่ยวกับการสอบ ก.พ. ว่าต้องสอบอะไรบ้าง การสอบ ก.พ. จะแบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ ภาค ก. ภาค ข. และภาค ค. โดยน้องๆ จะต้องสอบให้ผ่านครบทั้ง 3 ภาคครับถึงจะได้เข้าทำงานในหน่วยงานราชการ
โดยแต่ละภาค มีการสอบดังนี้
- ภาค ก. การทดสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป
- ภาค ข. การทดสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง
- ภาค ค. การทดสอบเพื่อวัดความเหมาะสมกับตำแหน่ง และสำหรับการสอบ ก.พ.
น้องๆ จะต้องสอบผ่าน ภาค ก. ก่อน จึงจะมีสิทธิ์สอบภาค ข. และต้องสอบภาค ข. ผ่านก่อน จึงจะมีสิทธิ์สอบภาค ค. ตามลำดับแบบนี้ไปนะครับ
ภาค ก. การสอบวัดความรู้ ความสามารถทั่วไป
นับเป็นประตูด่านแรกของการสอบ ก.พ. เลยนั่นคือการสอบภาค ก. การทดสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป มีคะแนนเต็ม 200 คะแนน โดยแบ่งเป็น
- วิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ (50 ข้อ 100 คะแนน)
- วิชาภาษาอังกฤษ (25 ข้อ 50 คะแนน)
- วิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี (25 ข้อ 50 คะแนน)
เกณฑ์การสอบผ่าน
- ระดับตั้งแต่ปริญญาตรีลงมา
น้องๆ ต้องได้คะแนนวิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ไม่ต่ำกว่า 60% คะแนนวิชาภาษาอังกฤษต้องได้ไม่ต่ำกว่า 50% และวิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดีต้องได้ไม่ต่ำกว่า 60% จึงจะถือว่าสอบผ่าน
- ระดับปริญญาโท
น้องๆต้องได้คะแนนวิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ไม่ต่ำกว่า 65% คะแนนวิชาภาษาอังกฤษต้องได้ไม่ต่ำกว่า 50% และวิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดีต้องได้ไม่ต่ำกว่า 60% จึงจะถือว่าสอบผ่าน
และทางสำนักงาน ก.พ. จะออกหนังสือรับรองการสอบให้ เพื่อนำไปใช้ในการสอบภาค ข. และภาค ค. ต่อไปครับ
หมายเหตุ สามารถนำคะแนน TOEIC, IELTS, CU-TEP หรือ TU-GET ไปยื่นแทนวิชาภาษาอังกฤษได้ แต่คะแนนต้องได้ไม่ต่ำกว่า 50% เช่นกันนะครับ
อ่านเพิ่มเติม : สอบ ก.พ. ภาค ก คืออะไร? ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง? ใช้เวลาสอบกี่ชั่วโมง?
ภาค ข. การสอบวัดความรู้ ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง
เมื่อผ่านการสอบจากประตูด่านแรกมาแล้วคือภาค ก. และได้หนังสือรับรองการสอบจากทางสำนักงาน ก.พ. มาเรียบร้อยแล้ว ทีนี้ก็มาถึงประตูด่านที่สอง ก็คือการสอบภาค ข. การทดสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุข ตำแหน่งนักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ ตำแหน่งนิติกร เป็นต้น
โดยจะเป็นการสอบข้อเขียนแบบปรนัยหรืออัตนัย ขึ้นอยู่กับความต้องการของส่วนราชการนั้นๆ และในการสอบภาค ข. นี้ ทางสำนักงาน ก.พ. จะให้ส่วนราชการนั้นๆ จัดสอบเอง
อ่านเพิ่มเติม : ตอบคำถาม! การสอบ ก.พ. ภาค ข คืออะไร? ขั้นตอนสมัครมีอะไรบ้าง?
ภาค ค. การสอบสัมภาษณ์
เมื่อผ่านการสอบทั้งภาค ก. และภาค ข. มาเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น ทีนี้ก็มาถึงประตูด่านสุดท้ายของการสอบคัดเลือก นั่นก็คือการสอบ ก.พ. ภาค ค. การทดสอบเพื่อวัดความเหมาะสมกับตำแหน่ง
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการสอบสัมภาษณ์ หรือบางทีจะมีการทดสอบร่างกาย การทดสอบทางด้านจิตวิทยาด้วย ขึ้นอยู่กับความต้องการของส่วนราชการนั้นๆ และในการสอบภาค ค. นี้ ทางสำนักงาน ก.พ. จะให้ส่วนราชการนั้นๆ จัดสอบเอง
การสอบ ก.พ. แบบ e-Exam คืออะไร
สำหรับน้องๆ ที่สงสัยว่า การสอบ ก.พ. แบบ e-Exam หรือ การสอบ ก.พ. อิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร? มีรูปแบบการสอบแบบไหน? อย่างไรบ้าง? พี่บัสจะมาช่วยไขความกระจ่างให้ครับ
สำหรับการสอบ ก.พ. แบบ e-Exam นั้นก็คือการสอบในคอมพิวเตอร์นั่นเองครับ โดยที่เนื้อหาการสอบ จำนวนข้อสอบ ตลอดจนเกณฑ์การสอบผ่านนั้นยังคงเหมือนเดิมทุกประการ ก็คือยังเหมือนกับการสอบ ก.พ. แบบ Paper & Pencil หรือแบบที่น้องๆ คุ้นชินกันคือแบบใช้ดินสอ 2B ฝนคำตอบลงบนกระดาษนั่นเองครับ
สรุปเลยก็คือต่างจากเดิมแค่น้องๆ ไปคลิกคำตอบลงในคอมพิวเตอร์แทนเท่านั้นครับ
สมัครสอบ ก.พ. รอบ e-Exam ไปแล้ว สามารถสมัครสอบรอบปกติอีกได้ไหม?
โดยปกติในปีนั้นๆ ที่มีการจัดสอบ ก.พ. ทั้งรอบ e-Exam และรอบปกติ น้องๆ จะเลือกสมัครสอบได้แค่แบบใดแบบหนึ่งเท่านั้นครับ แต่!!! สำหรับในปี 2564 นั้นมีความพิเศษที่ น้องๆสามารถสมัครสอบทั้ง 2 รอบได้เลย คือทั้งรอบ e-Exam และรอบปกติ ไปพร้อมกันได้เลยครับ
ดังนั้นพี่บัสขอให้น้องๆติดตามรายละเอียดการสอบ ก.พ. ตรงส่วนนี้ไว้ให้ดี ในการสมัครสอบ ก.พ. ในปีต่อๆ ไปนะครับ
7 ขั้นตอนการสมัครสอบ ก.พ. แบบจบครบในที่เดียว
สำหรับน้องๆ ที่จะสมัครสอบ ก.พ. นะครับ พี่บัสได้รวบรวมขั้นตอนการสมัครทั้ง 7 ขั้นตอน แบบจบครบในที่เดียวมาให้แล้ว ดังนี้ครับ
- น้องๆเข้าไปที่เว็บไซต์ สำนักงาน ก.พ. แล้วเลือกหัวข้อ “สมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป ประจำปี ๒๕๖๔” จากนั้นคลิก “สมัครสอบ”
- กรอกข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ
- เลือก “รอบสอบและศูนย์สอบ” ที่ต้องการในการสอบ ก.พ. จากนั้นระบบจะกำหนด “แบบฟอร์มสำหรับชำระเงิน” มาให้
- ชำระเงินค่าธรรมเนียมการสมัครสอบ 330 บาท “ภายในวันที่แบบฟอร์มชำระเงินระบุไว้” ไม่เช่นนั้นถือว่าเป็นการสละสิทธิ์สอบ
- การสมัครสอบจะเสร็จสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อมีการชำระเงินเรียบร้อยแล้วเท่านั้นนะครับ
- หลังจากชำระเงิน 1 วัน ให้น้องๆ เข้าไปตรวจสอบการสมัครที่เว็บไซต์ สำนักงาน ก.พ. และถ้ายังไม่มีรูปถ่ายผู้สมัคร ให้คลิก “อัปโหลดรูปถ่าย” (รูปถ่ายที่ถูกต้อง ต้องหน้าตรง ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นตาดำ, พื้นหลังไม่มีลวดลาย, ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน, มีขนาด 11.5 นิ้ว, มีขนาดไฟล์ 40-100 kb และเป็นประเภทไฟล์ .JPG เท่านั้นครับ)
- พิมพ์ “บัตรประจำตัวผู้เข้าสอบ” พร้อมลงลายมือชื่อให้เรียบร้อย และอย่าลืม!!! ให้นำบัตรนี้ไปในวันสอบ ก.พ. ด้วยนะครับน้อง
หมายเหตุ สำหรับปี 2564 ทางสำนักงาน ก.พ. เปิดรับสมัครสอบ ก.พ. ภาค ก. ไปตั้งแต่วันที่ 3 – 24 กุมภาพันธ์ 2564 แล้ว ส่วนวันสอบนั้นได้เลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด และจะประกาศวันสอบ ให้ทราบอีกครั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ครับ
แนะนำวิธีเตรียมตัวก่อนสอบ ก.พ.
อยากสอบ ก.พ. ผ่านต้องเตรียมตัวยังไง พี่บัสจะมาแนะนำการเตรียมตัวสอบ ก.พ. แบบครบถ้วน ทำอย่างไรให้ไม่พลาด แน่นอนที่น้องๆ จะต้องเตรียมตัวอ่านหนังสือ แต่ยังมีองค์ประกอบต่างๆ จะช่วยให้เราสอบผ่านที่ไม่ใช่แค่การอ่านหนังสือเล่มเดียวจบ
อย่างที่น้องๆ ทราบ การสอบก.พ. 64 ถูกเลื่อนออกไป ดังนั้นทุกคนมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้นซึ่งต้องเตรียมตัวให้พร้อมตลอดเวลา เมื่อมีการประกาศวันที่สอบจะได้ไม่ต้องเร่งอ่าน และอาจทำให้พลาดโอกาสนี้ไปได้ สำหรับน้องๆ ที่อยากสอบก.พ. 65 หรือปีต่อๆ ไป สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกข้อก็คือ การติดตามประกาศจากสำนัก ก.พ. จะเปิดสอบครั้งถัดไปเมื่อไหร่ ห้ามพลาดเด็ดขาด
1. ศึกษาไว้ รู้ก่อนได้เปรียบกว่า
การเตรียมตัวสอบ ก.พ. อย่างแรกเลย จะต้องศึกษารายละเอียดต่างๆให้ครบถ้วน กระบวนการสมัครสอบ ก.พ. ข้อมูลสำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะคุณสมบัติ วุฒิการศึกษา รวมถึงภาพรวมเนื้อหาวิชาทีใช้สอบและแนวข้อสอบ ก.พ. ซึ่งข้อนี้สำคัญมากๆครับ
2. ไม่พลาดทุกข้อมูลข่าวสาร
น้องๆ ต้องติดตามข้อมูลข่าวสารของทางสำนัก ก.พ.อย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้เตรียมตัวได้อย่างทันท่วงที ไม่พลาดการเปิดรับสมัครในแต่ละปี รวมทั้งการแจ้งข่าวสำคัญระหว่างที่สมัครแล้ว ทั้งวันที่พิมพ์บัตรประจำตัว ประกาศสถานที่สอบ และข้อมูลสำคัญต่างๆ
3. รู้จริงเทคนิคสอบผ่าน ก.พ.
อยากรู้ไหม สอบ ก.พ. ยังไงให้ผ่าน น้องๆ ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเสมอ แบ่งเวลาอ่านหนังสืออย่างเคร่งครัดจะช่วยให้เราอ่านหนังสือได้ทันเวลา สรุปเนื้อหาสำคัญ อย่าลืมหาข้อสอบเก่ามาทำเป็นประจำจะช่วยให้เราคุ้นเคยกับข้อสอบได้อย่างดีทีเดียว และถ้าไม่อยากพลาด สิ่งสำคัญอีกหนึ่งข้อคือการจับเวลาทำข้อสอบเสมือนจริง จะช่วยให้เราบริหารเวลาในการทำข้อสอบจริงได้อย่างดี
4. ลงเรียนคอร์สติวสอบ ก.พ. ออนไลน์
สำหรับใครที่กำลังเตรียมตัวสอบ ก.พ. แต่ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน อยากรู้ว่าสอบ ก.พ. อ่านอะไรบ้าง การลงเรียนคอร์สติวสอบ ก.พ. ออนไลน์ ก็เป็นทางเลือกที่จะช่วยเราได้เยอะมากทีเดียว
เนื่องจากคอร์สติวสอบจะสรุปเนื้อหาที่จะสอบมาให้เราแบบครบจบทุกเนื้อหาสำคัญ และยังมีจุดเน้นที่ออกสอบบ่อย เทคนิคต่างๆ ที่จะช่วยให้สอบผ่าน พร้อมที่ปรึกษาส่วนตัวที่จะตอบทุกคำถามทั้งเนื้อหาที่เรียน หรือข้อสงสัยต่างๆ ในการสอบ คอร์สติวสอบ ก.พ. ออนไลน์จึงตอบโจทย์สำหรับคนที่อยากสอบผ่านก.พ.ได้อย่างดี
Q&A การสอบ ก.พ.
ข้อสรุปเรื่องการสอบ ก.พ.
หากน้องๆ คิดจะเข้าทำงานสายราชการแล้วล่ะก็ ต้องผ่านด่านแรกไปให้ได้ก่อน นั่นก็คือการสอบ ก.พ. ซึ่งการสอบจัดเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ดังนั้นน้องๆ ควรเตรียมตัวให้พร้อมนะครับ เพื่อที่จะได้ไม่เสียโอกาส ในการสมัครราชการ หากสอบไม่ติดต้องรอถึง 1 ปีเลยทีเดียว อยากสอบติด ก.พ. มาลุยไปกับพี่บัสกันได้เลย เนื้อหากระชับ ครบถ้วน สรุปจบครบทุกประเด็นใน คอร์สติวสอบ ก.พ.